วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สร้างหุ่นยนต์อะไรดี

BYOB2-robot-type

หลังจากที่เรามีดำริว่าจะสร้างหุ่นยนต์กันแล้ว เราจะสร้างหุ่นยนต์อะไรดีนะ มาดูกันดีกว่าว่าหุ่นยนต์มีแบบไหนบ้าง
  • manipulator หรือแขนกลหุุ่นยนต์ หุ่นยนต์ประเภทนี้เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่มีกลไกไว้เคลื่อนไหวปลายแขน ซึ่งอาจจะติดตั้งมือไว้หยิบ จับ ยก ย้าย สิ่งของต่าง ๆ หรือติดเครื่องมือไว้ตัด แต่ง ต่อ เติมชิ้นงานต่าง ๆ หรืออาจจะติดตั้งเซนเซอร์ไว้ตรวจวัดบริเวณต่าง ๆ ของชิ้นงาน
A) แขนกลหุ่นยนต์แบบ 6 องศาอิสระ จาก KUKA, B) แขนหยิบแบบ delta robot จาก ABB, C) เครื่องพิมพ์สามมิติ จาก MakerBot, D) แขนแบบงวงช้าง จาก Festo
  • mobile robot หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ หุ่นยนต์ประเภทนี้มีกลไกไว้เคลื่อนที่ไปมา ซึ่งอาจจะเป็นล้อ ตีนตะขาบ ขา (2 ขา, 3 ขา, 4 ขา, 6 ขา, 8 ขา, … , 100 ขา) ปีก ใบพัด และอื่น ๆ สุดแต่จะจินตนาการได้
A) หุ่นยนต์ดูดฝุ่น 2 ล้อ iRobot Roomba, B) หุ่นยนต์ 3 ขา Strider, C) หุ่นยนต์ 6 ขา, D) หุ่นยนต์ 6 ล้อ rocker-bogie, E) หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ, F) อากาศยานไร้คนขับ 4 ใบพัด
  • mobile manipulator หรือแขนกลเคลื่อนที่ได้ ลำพังแขนกลอยู่กับที่อาจทำงานได้ไม่พอกับความต้องการ หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่เฉย ๆ ก็ยังทำอะไรได้ไม่มาก ก็เอาแขนกลมาติดตั้งบนหุ่นยนต์เคลื่อนที่ซะเลย จะได้เคลื่อนที่ไปหยิบจับ ส่องดู สิ่งต่าง ๆ ได้

A) หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ ASIMO, B) แขนหุ่นยนต์บนฐานเคลื่อนที่ได้ KUKA youBot, C) หุ่นยนต์แข่งขันกู้ภัย, D) หุ่นยนต์แข่งขัน RDC

การแบ่งประเภทไม่ได้มีตายตัวแค่แบบที่ยกขึ้นมาเท่านั้น ที่อื่นอาจจะแบ่งแบบอื่นก็ได้
แล้วจะสร้างหุ่นยนต์แบบไหนดี
  • ประเภทที่แบ่งให้ดูข้างต้น แบ่งตามลักษณะการทำงาน ดังนั้นก็ต้องดูว่าเราอยากสร้างหุ่นยนต์เพื่อเอาไปทำอะไร ให้มันวิ่งไปสำรวจนู่นนี่ ก็ต้องเป็น mobile robot หรือถ้าจะให้หยิบจับ ย้ายของในพื้นที่เล็ก ๆ ก็ทำ manipulator
  • พร้อมลุยกับความยากขนาดไหน ความยากขึ้นกับความซับซ้อนของกลไก จำนวนต้นกำลัง จำนวนเซนเซอร์ที่ต้องใช้ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ควบคุมหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์วิ่งด้วยล้อ 2 ล้อ ย่อมง่ายกว่าหุ่นยนต์ 6 ขา หรือง่ายกว่าแขนกล 6 ข้อต่อ แต่จะมีความยากอยู่ประมาณเดียวกับหุ่นยนต์ตีนตะขาบ 2 ข้าง หรือแขนกล 2 ข้อต่อ
เดี๋ยวคราวหน้าเรามาดูกันว่า ถ้าเราเลือกได้แล้วว่าจะสร้างหุ่นยนต์อะไรดี เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง หุ่นยนต์ประกอบด้วยอะไรบ้าง รอติดตามกันนะครับ
** บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุด Build Your Own Bot แนะนำการสร้างหุ่นยนต์ด้วยตัวเอง **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น